8 เทรนด์ที่จะกำหนดอนาคตของการบริหารจัดการข้อมูล
ธุรกิจในยุคนี้ ข้อมูลกลายมาเป็นสินทรัพย์สำคัญของธุรกิจ ด้วยพลังการประมวลผลที่มากขึ้น และปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน ข้อมูลจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ยังนำมาซึ่งความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความปลอดภัยและการจัดการบริหารข้อมูลของคุณ สิ่งนี้เองที่ทำให้ต้องจัดการให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) ซึ่งกลายมาเป็นกลยุทธ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลของคุณถูกต้อง ทันสมัย และจัดเก็บอย่างปลอดภัย
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าเเปลกใจที่การกำกับดูแลข้อมูลจึงกลายเป็นหัวข้อร้อนเเรงอย่างรวดเร็ว โดยคาดการ์ณว่าตลาดจะเติบโตจาก 3 พันล้านดอลลาร์เป็น 15 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 เพื่อให้ก้าวทันกับการขยายตัวนี้ องค์กรจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจว่าการกำกับดูแลข้อมูลมีการพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อตอบสนองต่อความซับซ้อนด้านข้อมูลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ
นั่นเป็นเหตุผลที่ได้รวบรวมแนวโน้มด้านการกำกับดูแลข้อมูลแปดอันดับแรกที่กำลังเปลี่ยนโฉมอนาคตของการจัดการข้อมูล ด้วยการนำแนวโน้มเหล่านี้ไปปรับใช้จะช่วยให้คุณสามารถมั่นใจได้ว่าการกำหนดเเผนกลยุทธ์ข้อมูลของคุณยังคงทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
การกำกับดูแลข้อมูลคืออะไร?
เมื่อคุณกำลังออกแบบโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลขององค์กร คุณอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการกำกับดูแลข้อมูล โดยพื้นฐานแล้ว Data Governance เกี่ยวข้องกับการกำหนดวิธีการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลภายในองค์กร คำถามหลักที่มักถูกกล่าวถึงมีดังนี้:
- “ข้อมูล” มีความหมายต่อธุรกิจอย่างไร?
- ข้อมูลได้มาจากที่ไหนและถูกจัดเก็บไว้ที่ไหน?
- ข้อมูลควรมีความแม่นยำระดับไหนจึงจะถูกนำมาใช้ได้?
- ใครในองค์กรสามารถใช้ข้อมูลได้บ้าง และใช้อย่างไร?
เนื่องจากการกำกับดูเเลข้อมูลเป็นคำที่ครอบคลุมโดยกว้าง องค์กรหลายแห่งจึงแบ่งความรับผิดชอบของการกำกับดูแลข้อมูลออกเป็นบทบาทต่างๆ ซึ่งจะมีผู้ที่ดูแลรับผิดชอบกลยุทธ์การกำกับดูแลข้อมูลโดยรวม เเละมักจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบงานด้าน Quality Management เช่นเดียวกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่จะนำนโยบายการกำกับดูแลข้อมูลไปปฏิบัติงานจริง
การกำกับดูแลข้อมูลมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ ก่อนอื่นคุณลองนึกภาพถึงการดำเนินธุรกิจประจำวันของคุณจะเป็นอย่างไร หากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและไม่ซับซ้อน Data Governance Strategy สามารถช่วยให้คุณปรับปรุงการใช้ข้อมูลของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวรับประกันคุณภาพเมื่อพูดถึงเนื้อหาของข้อมูลด้วย ความไม่สอดคล้องกันระหว่างระบบต่างๆ หรือข้อผิดพลาดเล็กน้อยทั่วไปอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับองค์กรใดๆ ที่พยายามใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์มีประสิทธิภาพสูงสุด Data Governance จะสร้างขั้นตอนในการจัดการกับอุปสรรคเหล่านี้ นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างความไว้วางใจระหว่างทีมได้
ท้ายที่สุด การกำกับดูแลข้อมูลกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นในเเง่มุมด้านกฎหมายและกฎระเบียบ บริษัทต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัว เช่น GDPR และ CCPA เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าและปกป้องธุรกิจในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ด้วยการสร้างนโยบาย และขั้นตอนการกำกับดูแลข้อมูลสามารถช่วยให้คุณมั่นใจมากขึ้นว่าคุณกำลังปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้อย่างถูกต้อง
ตัวอย่างของเหตุการณ์ความปลอดภัยของข้อมูล คือการละเมิดความเป็นส่วนตัว อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของ Giant Tiger ในเดือนมีนาคม 2024 ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในแคนาดารายนี้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เกิดจากเเฮกเกอร์สามารถเจาะเข้าระบบและทำลายข้อมูลของผู้จำหน่ายรายหนึ่งได้
8 แนวโน้มการกำกับดูแลข้อมูลยอดนิยมในปี 2568
เมื่อคุณเข้าใจพื้นฐานของการกำกับดูแลข้อมูลแล้ว คุณจะปรับปรุงรักษากลยุทธ์ให้ทันสมัยได้อย่างไร ต่อไปนี้คือแนวโน้มสำคัญในการกำกับดูแลข้อมูลที่คุณสามารถนำไปใช้ในองค์กรของคุณ
#1: การใช้ระบบอัตโนมัติในการกำกับดูแลข้อมูล
การใช้ระบบอัตโนมัติกำลังแพร่หลายมากขึ้นในซอฟต์แวร์ธุรกิจ โดยได้รับแรงผลักดันจากความจำเป็นที่ต้องจัดการงานที่ต้องทำซ้ำซ้อนเป็นประจำในภาพรวมของข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ แนวโน้มนี้ยังเห็นได้ชัดในการกำกับดูแลข้อมูลเช่นกัน ความสามารถของซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ช่วยให้ทำงานที่สำคัญได้โดยอัตโนมัติ เช่น การจัดประเภทและการดูแลจัดการสินทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เมื่อนำไปใช้งานอย่างถูกต้องแล้ว Automation ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดข้อผิดพลาดในข้อมูลของคุณได้
#2: การประมวลผลแบบเรียลไทม์
โดยทั่วไปแล้ว การจัดการข้อมูลจะประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การเก็บรวบรวม, การประมวลผล และการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายองค์กรกำลังรวมขั้นตอนการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเข้าด้วยกัน แทนที่จะประมวลผลข้อมูลจำนวนมากเป็นชุดใหญ่ ข้อมูลจะถูกจัดรูปแบบและประมวลผลทันทีที่เมื่อมีการเก็บรวบรวม
วิธีการนี้เรียกว่าการประมวลผลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้คุณสร้างข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคุณไม่ต้องรอหลายวันเพื่อให้การประมวลผลเสร็จสมบูรณ์
ก่อนที่จะนำความสามารถนี้ไปใช้งาน สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าการประมวลผลแบบเรียลไทม์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับองค์กรของคุณหรือไม่ วิธีการนี้ใช้ทรัพยากรมากและต้องมีขั้นตอนความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เข้มงวดหากคุณต้องการข้อมูลเชิงลึกที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจากข้อมูลของคุณ
#3: ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
การเปิดตัว ChatGPT ได้ปลดล็อกให้เกิดโอกาสมากมายสำหรับนวัตกรรมทางธุรกิจ องค์กรต่างๆ กำลังบูรณาการ AI เข้ากับเฟรมเวิร์กดิจิทัลของตนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น U.S. Federal Enterprise Architecture (FEA) และภาคเอกชนต่างๆ
การใช้งานหลักของ AI ในการกำกับดูแลข้อมูลคือการเพิ่มความแม่นยำของชุดข้อมูล AI สามารถสแกนข้อมูลจำนวนมากเพื่อระบุความไม่ถูกต้องและความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับการละเมิดข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นโดยการตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัยและแจ้งเตือนถึงหัวหน้าถึงภัยคุกคามความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น
การตรวจจับภัยคุกคามเป็นตัวอย่างวิธีการใช้ประโยชน์จาก AI สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ด้วยการใช้ระบบการตรวจจับขั้นสูงที่ขับเคลื่อนโดยการเรียนรู้ของเครื่อง องค์กรสามารถวิเคราะห์รูปแบบเครือข่ายเฉพาะเพื่อระบุกิจกรรมที่ผิดปกติซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการละเมิดข้อมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่
#4: โซลูชันบนคลาวด์
การจัดเก็บข้อมูลของคุณบนคลาวด์ แทนที่จะจัดเก็บข้อมูลภายในองค์กร (on-premises) ช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับขนาดของการกำกับดูแลข้อมูลของคุณได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังรองรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรกับการทำงานเเบบระยะไกลในปัจจุบัน ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คุณเริ่มต้น การเปลี่ยนแปลงของคลาวด์ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุน คือ เวลาและความพยายามในการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงคุณควรใช้นโยบายการกำกับดูแลข้อมูลและการควบคุมตั้งแต่เริ่มแรก
#5: การกระจายอำนาจและการเปิดกว้างเเบบประชาธิปไตย
โดยปกติแล้ว ข้อมูลจะถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเลือกภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้คนจำนวนมากขึ้นต้องการเข้าถึงข้อมูลเพื่อทำการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งต้องขอบคุณผลจากการกระจายอำนาจและการเปิดกว้างของ Democratization of Data
การเปิดกว้างข้อมูลเเบบประชาธิปไตยมุ่งเน้นไปที่การเสริมศักยภาพให้ทุกคนในองค์กรของคุณใช้ข้อมูลได้อย่างอิสระ โดยมีมาตรการป้องกันและการควบคุมที่เหมาะสม ด้วยการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ คุณสามารถกำจัดศัพท์เฉพาะทางเทคนิคที่มักเป็นอุปสรรคในการเข้าใจ ทำให้ทุกคนสามารถทำงานบนพื้นฐานข้อมูลจริงเชิงลึกได้อย่างง่ายดาย
#6: จริยธรรมข้อมูลและข้อบังคับความเป็นส่วนตัว
สำหรับบริษัทที่ต้องติอต่อกับลูกค้าโดยตรง จริยธรรมด้านข้อมูลกลายเป็นหัวข้อที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่น GDPR และ CCPA ยังคงเข้มงวดและไม่มีทีท่าว่าจะน้อยลง ลูกค้าต้องเชื่อมั่นไว้วางใจว่าองค์กรของคุณว่าจะใช้ข้อมูลของพวกเขาอย่างมีจริยธรรมและยุติธรรม ต่อไปนี้คือข้อพิจารณาด้านจริยธรรมที่สำคัญบางประการเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล:
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้รับความยินยอมในการเก็บรวบรวมข้อมูล
- รักษาความโปร่งใสในแนวทางปฏิบัติในการใช้ข้อมูลของคุณ
- ใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมเพื่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจเเละเเจ้งไว้เท่านั้น
- ปกป้องข้อมูลจากการเข้าถึงและการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต
#7: การติดตามตรวจสอบและสืบย้อนข้อมูล
องค์กรที่ใช้ข้อมูลได้ดีที่สุด คือ องค์กรที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเรามักเรียกกันว่าการสืบย้อนข้อมูล Data Lineage สิ่งนี้ช่วยให้คุณเข้าใจว่าข้อมูลมีการเปลี่ยนเเปลงตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกขั้นสุดท้ายที่นำมาใช้จริงภายในบริษัทได้อย่างไร
การติดตามตรวจสอบและสืบย้อนข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหา เนื่องจาก "แผนผังลำดับ (Family tree)" ของข้อมูลนี้สามารถช่วยระบุต้นตอที่มาของความไม่สอดคล้องกันภายในระบบการผลิตข้อมูลได้ หากคุณตั้งเป้าที่จะบังคับใช้คุณภาพข้อมูลในระดับสูง การตรวจสอบและสืบย้อนข้อมูลควรเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์การกำกับดูแลข้อมูลของคุณ
เทรนด์ที่กำลังมาแรงเช่น Data Abservability กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน วิธีนี้ช่วยเราเฝ้าติดตาม เข้าใจ และปรับคุณภาพและประสิทธิภาพของข้อมูลให้เหมาะสมแบบเรียลไทม์ ด้วยการรวมแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไว้ในกรอบการทำงานการกำกับดูแลข้อมูลของคุณ คุณก็มั่นใจได้ว่าไม่เพียงแต่คุณจะตรวจสอบข้อมูลของคุณได้เท่านั้น แต่คุณยังเข้าใจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของมันอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้น
#8: การตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการรับรองคุณภาพข้อมูลคือการใช้กระบวนการที่รับประกันว่าข้อมูลของคุณถูกต้องและเชื่อถือได้ หากไม่มีการตรวจสอบคุณภาพข้อมูล คุณจะไม่สามารถเชื่อถือข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากชุดข้อมูลของคุณ ส่งผลให้กระบวนการทั้งหมดไม่มีประสิทธิภาพ
วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลคือการใช้กฎในการตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น หากคุณรวบรวมที่อยู่อีเมลผ่านการค้นหาอีเมล คุณต้องตรวจสอบข้อมูลนี้ว่าถูกต้องโดยการเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น
การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลยังช่วยสร้างมาตรฐานเดียวกันได้อีกด้วย เพราะเมื่อเรารวบรวมข้อมูลจากแหล่งและวิธีการต่างๆมักจะมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้การเปรียบเทียบโดยตรงมีความยากซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเราก็สามารถจัดรูปแบบข้อมูลใหม่ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางเป็นเเบบเดียวกันสอดคล้องกันทั่วทั้งองค์กรของคุณ
แนวโน้มการจัดการอนาคตของข้อมูล
ถ้าคุณอยากให้องค์กรของคุณทันสมัยในเรื่องข้อมูลและเทคโนโลยี คุณต้องใช้วิธีจัดการข้อมูลที่ทันยุค โดยเฉพาะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแบบนี้
8 แนวโน้มสำคัญในการจัดการข้อมูลสำหรับอนาคตนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้ AI และการเปิดกว้างในการเข้าถึงข้อมูล ลองเอาแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ในการจัดการข้อมูลของคุณตั้งแต่วันนี้เลย! หรือสอบถามข้อมูลกับ Beryl8 เพิ่มเติมได้ที่ contact us!
ข้อมูลอ้างอิงจาก alation